





กระบวนการแปรรูปพริกไทยแดง
รายละเอียด
พริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน หรือ พริกไทยตรัง (Phrikthai Trang หรือ Trang Pepper) เป็นพืชพื้นถิ่นที่สำคัญของจังหวัดตรัง และมีต้นพันธุ์ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ มีการกระจายตัวในการปลูกทั้งจังหวัดตรัง และในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง พริกไทยตรังเป็นสินค้ามีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ในปี 2564 พริกไทยตรังยังได้รับการประกาศจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้พริกไทยตรังขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดตรัง ลำดับที่ 152 โดยมีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง ดำเนินการผลักดันให้มีการจัดทำระบบควบคุมมาตรฐานสินค้า GI เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า (สำนักงานจังหวัดตรัง, 2564) ลักษณะที่โดดเด่นของพริกไทยตรังนั้นแตกต่างจากพริกไทยในพื้นที่อื่น ทั้งในแง่ของคุณภาพ รสชาติที่เผ็ดร้อนกำลังดี มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมล็ดเล็ก ฝักแน่น เหมาะกับการรับประทานสดและแห้ง นอกจากนั้นแล้วจากการศึกษาพริกไทยตรังมีปริมาณกรดไขมันแกมมาไลโนเลนิก แอซิด หรือ GLA (Gamma-Linolenic Acid) ซึ่งไม่พบในพริกไทยสายพันธุ์อื่น กรดไขมันนี้เป็นกรดไขมันพิเศษที่ให้คุณประโยชน์ต่อสุขภาพและความงามเป็นอย่างมาก โดยช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และพริกไทยตรังมีปริมาณสารพิเพอร์รีนมีค่าสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพริกไทยจันทบุรี และกัมปอต ตามลำดับ
แรงบันดาลใจ / แนวคิดในการออกแบบผลงาน
การแปรรูปพริกไทยที่ขายในท้องตลาดจะทำในรูปแบบพริกไทยดำและพริกไทยขาว ส่วนพริกไทยแดงมีการผลิตและจำหน่ายน้อยมากในท้องตลาด ทำให้มีราคาสูงกว่าพริกไทยดำและพริกไทยขาว เนื่องจากพริกไทยแดงมีกระบวนการแปรรูปหลายขั้นตอน มีสีสันกว่าและรสชาติเผ็ดกลาง ๆ มีความหวานจากเปลือกสีแดงภายนอกและกลิ่นหอมแบบผลไม้กว่าพริกไทยขาวและพริกไทยดำ ผู้บริโภคจึงให้ความสนใจในการบริโภคพริกไทยแดงมากขึ้น ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการพริกไทยตรังให้ความสนใจในการแปรรูปพริกไทยแดงมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยปกติกระบวนการแปรรูปพริกไทยแห้งตามภูมิปัญญาท้องถิ่นจะอาศัยแสงแดดธรรมชาติ แต่เนื่องจากภาคใต้มีฤดูฝนที่ค่อนข้างยาวนาน ทำให้พริกไทยแห้งที่ได้อาจไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เกิดเชื้อราได้ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค และในการแปรรูปพริกไทยแดงนั้น จะมีการคัดเลือกเมล็ดตามสีที่ต้องการและในขั้นตอนการแปรรูปห้ามโดนแสงแดด ทำให้ยิ่งต้องระวังเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ที่เกิดเชื้อราได้ ซึ่งในกระบวนการแปรรูปเหล่านี้ เกษตรกรผู้แปรรูปต้องใส่ใจอย่างมาก ตั้งแต่การคัดเลือกและแยกเมล็ดพริกไทยตามสี และการทำให้เมล็ดพริกไทยแห้ง โดยให้เมล็ดเป็นสีแดงและไม่เกิดเชื้อราในภายหลัง ดังนั้นจึงมีความสนใจในกระบวนการแปรรูปพริกไทยแดงที่มีคุณภาพ และไม่เกิดเชื้อรา
วัสดุที่ใช้
พริกไทยสดสีส้ม
ขนาดของบรรจุภัณฑ์
ขวด 50 กรัม